หลินเคยได้คุยเรื่องเครื่องนวดสองแขนกับนักเรียนในคลาส ในใจก็คิดว่าอยากทดลองนวดโดจากเครื่องนวดประเภทนี้บ้าง พอเจอน้องแวนดา Kitchen World Marketplace เลยคุยกันถึงเครื่องนวดสองแขน น้องบอกว่าที่ร้านมีอยู่เครื่องนึง อยากให้พี่ลองใช้ดู
เย็นวันนั้นเลยได้ไปรับเครื่องนวดสองแขนจากที่ Kitchen World มา
Twin arm mixer (made in Malaysia)
รับมาแบบยังไม่มีข้อมูลอะไร เลยอยากลองนวดเพื่อให้คุ้นเคยกับเครื่อง หาปริมาณแป้ง กับ hydration ที่เหมาะสม ครั้งแรกจึงทดลองเป็นสูตร hybrid sourdough จะได้อบเสร็จในวันนั้นเลย
ตอนแรกใส่แป้ง 500 กรัม เครื่องผสมของแห้งได้ดี แต่พอทุกอย่างรวมกันเป็นโดแล้ว ขนาดโดเล็กไป ทำให้ไปติดอยู่ที่แขนขวาข้างเดียว (แขนขวาจะเป็นลักษณะแบน-คล้ายฝ่ามือ แขนซ้ายเป็นเหล็กสองอัน-คล้ายสองนิ้ว ช่วยเกี่ยวโดให้ยืดขึ้น)
พอแขนซ้ายเกี่ยวไม่ถึง เลยค่อย ๆ เติมแป้งเพิ่มเข้าไป จนได้แป้ง 800 กรัม ขนาดของโดใหญ่ขึ้น แขนซ้ายถึงเกี่ยวได้ และทำให้นวดได้ประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่อยากให้นวดง่ายขึ้นอีก เลยเติมแป้งจนได้ 1000 กรัม และใส่น้ำไปจนได้ความรู้สึกที่ชอบ
พอโดสูตรสอง เลยทดลองแป้ง 1500 กรัม ตั้งใจทำเป็นขนมปังนุ่ม ซึ่งปรกติโดจะแน่นกว่าขนมปังเปลือกแข็ง ก็นวดได้ดี *แต่คิดว่าถ้าเรานวดโดแน่น แล้วขนาดโดเล็กลงจนแขนซ้ายเกี่ยวไม่ได้ ก็จะนวดได้ช้าลง
วันนั้นเลยได้ทดลองนวดแป้ง 1000 1500 2000 กรัม (น้ำหนักโดให้ คูณสอง++ โดยประมาณ) ได้ออกมาเป็นขนมปัง 3 สูตร ตามรูปภาพด้านล่าง




มีคลิปตอนนวดขนมปังนุ่มด้วย เป็นสูตรที่คิดสด ๆ ตอนได้ปริมาณแป้งที่อยากทดลอง คือ 1500 กรัม เลยนวดไปปรับนมไป
พอมีเวลาว่างจากสอน รอบถัดไปเลยทดลองเป็น sourdough bread แน่นอนต้องมี sourdough country bread ที่หลินทำประจำจนคุ้นมือ เพื่อจะได้รู้ถึงความแตกต่างเวลานวดเครื่องนี้
การเคลื่อนไหวของเครื่องสองแขน ที่แขนขวาเป็นเหล็กแผ่นเดียวเหมือนใช้มือตักโดให้ลอยขึ้นมาและหล่นลงไป ในจังหวะที่หล่นจะมีอากาศเข้าไปด้วย ส่วนแขนซ้ายที่เหมือนนิ้วจะช่วยเกี่ยว ดึงให้โดยืด ช่วยให้การนวดมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิธีนวดแบบนี้จะทะนุถนอมโดมาก ไม่ค่อยเสียดสีให้โดร้อน ทำให้คุมอุณหภูมิโดตอนนวดเสร็จได้ดี
(แต่จะใช้เวลานวดนานกว่าเครื่องนวดประเภทอื่น ถ้านักอบรู้จักใช้เทคนิคหลายอย่างมาช่วย ก็นวดไม่ได้นานมากเกินไป)
การเสียดสีน้อยลง ทำให้รักษารสชาติของวัตถุดิบได้ดี ย่อมได้ขนมปังที่มีรสชาติดีกว่า และยังรักษาความนุ่มชุ่มชื้นของเนื้อขนมปังได้ดีด้วย
พอนวด sourdough country bread เสร็จ รู้สึกเลยว่าโดฟูฟ่องและเบาจากลมที่เข้าไปตอนโดถูกตัก ยืด และหล่นลงมา และรู้สึกว่าโดกระชับขึ้น ไม่เหลวเหมือนที่เคยนวดจากเครื่อง spiral
* แต่ที่เครื่องสองแขนนวดแล้วโดแน่นขึ้น หลินทราบอยู่แล้ว เพราะการเคลื่อนไหวและลักษณะแขนนวดของแต่ละเครื่องไม่เหมือนกัน รูปแบบของถักทอ เชื่อมโยงของกลูเตนเลยต่างกัน
เคยใช้เครื่องนวดขนาดเล็กที่แขนนวดเหมือนเป็นแท่งกลมและหมุนอย่างเดียว ไม่มีเสาตรงกลาง โดจะยืดมาก ถ้าเป็น sourdough country bread หลินต้องลดน้ำลง ถึงได้ความรู้สึกโดเท่ากับที่นวดเครื่อง spiral
spiral ที่มีเสาตรงกลาง การถักทอก็จะเหมือนสะดุดขึ้นมากกว่าแบบที่ไม่มีเสา โดก็ได้อีกแบบหนึ่ง
พอเป็นเครื่องสองแขน ก็จะถักกันอีกแบบ และยังมีลมเติมเข้าไปที่ช่วยดันให้โดกระชับขึ้น *
นวดเสร็จ ก็ทำงานขั้นตอน bulk ferment, fold และ retard bulk (cold bulk หมักโดทั้งกล่องในตู้เย็น ค่อยตัดแบ่ง ขึ้นรูปวันถัดไป) แต่ยังไม่ชินกับความรู้สึกโดที่ลมเยอะตั้งแต่นวดเสร็จ พอสิ้นสุด bulk โดยดูจากการขยายตัวและสัมผัสโดที่รู้สึกว่าเบาแล้ว พอเทโดออกมาตัดแบ่ง กลับพบว่า โดหนักกว่าปรกติ
คิด ๆ แล้ว น่าจะยัง under bulk ferment อยู่ โดถึงหนัก แต่การขยายตัวดูมาก เพราะมีลมมารอตั้งแต่นวดเสร็จ แต่ไม่ใช่ลมจากการหมัก ถ้าหากหมักโดให้ขยายเท่านี้จริง ๆ โดจะเบากว่านี้
ก็ทำงานไปตามความรู้สึกโดแบบไม่มั่นใจเท่าไหร่ พยายามจับจังหวะ proofing ให้ดี ก็ได้ผลงานออกมาดีกว่าที่คิด



ในช่วงนั้น ที่บ้านมี country bread ที่นวดจากเครื่อง spiral ด้วย เลยได้มาทดลองชิมพร้อมกัน
– ตัว spiral เนื้อสัมผัสส่วนที่เป็นเยื่อใยขนมปังจะเบากว่า เหตุเพราะคงถูกนวดจนกลูเตนยืดเบาขึ้น เปลือกหอมกว่า รสชาติดีตามปรกติที่ทำ
– ตัว สองแขน (twin arm) เนื้อสัมผัสเค้าจะไม่เบาเท่า spiral แต่เป็นนุ่ม ๆ ปนหนึบแทน *แต่ที่หนึบเพราะคิดว่ายังติด under ferment นิด ๆ เปลือกไม่หอมเท่า *แต่น่าจะเพราะอบสีอ่อนกว่าด้วย พอชิมโดนจุดที่สีเข้มขึ้นเปลือกก็หอมอร่อย
สรุปว่า ก็อร่อยทั้งสองอัน มี character ที่ต่างกันตรงเนื้อสัมผัส
และมีเหตุให้น่าสนใจมากขึ้น คือหลินลืมขนมปังไว้ในตู้เย็นนานจนเนื้อเริ่มแห้ง เวลาอุ่นเลยพรมน้ำเพื่อคืนความชุ่มชื้นให้ แต่เนื้อขนมปังยังรสชาติดีมาก รู้สึกว่าดีขึ้นกว่าครั้งแรกที่ได้ชิมด้วย
ทำให้ช่วยยืนยันแนวคิดเรื่อง การเสียดสีโดที่น้อย ย่อมรักษารสชาติของแป้งได้ดี
ในคลาส เวลาอธิบายเรื่องการนวด ที่หลินเน้นให้ระวังอย่างนวดโดนานเกินจุดที่เหมาะสม จะยกตัวอย่างว่า หากมีสองโดที่พัฒนากลูเตนมาได้เท่ากัน หมักเท่ากัน โดหนึ่งนวดมือ อีกโดนวดเครื่อง โดที่นวดมือจะอร่อยกว่า
ย้อนกลับไปเรื่อง ปริมาณแป้งที่ทดลอง ที่ครั้งแรกได้ minimum flour 800 กรัม
รอบนี้หลินอยากรู้ maximum flour ด้วย ตอนแรกวางแผนจะลอง 3500 กรัม แต่กลัวว่าลองนวดโดแล้วยังเหลือพื้นที่ในโถนวดทำให้ทดลองไม่จบ เลยใช้แป้ง 4000 กรัม และยังเป็นสูตรที่ใส่ผลไม้+ถั่ว น้ำหนักโดรวมเลยเกิน 9000 กรัมมานิดหน่อย
โดเปล่าหนักราว ๆ 8000 กรัม พอใส่ผลไม้+ถั่วเพิ่มโดเลยใหญ่ขึ้น จนจังหวะที่แขนนวดยกโดขึ้นมาโดไปชนกับด้านบน แต่ความแข็งแรงของแขนนวดไม่หวั่นไหว มอเตอร์ไม่สะดุดเลย
มีอีกเรื่องหนึ่งคือ พอกลูเตนเริ่มแข็งแรง โดจะหลุดออกลอกออกจากโถได้ดี แต่ก็มีแรงดึงมากจนโถลอยขึ้นมา
หลินต้องเอามาช่วยกดโถเอาไว้ **ในตอนนั้นก็แอบงงว่าเกิดอะไรขึ้น เดี๋ยวค่อยเฉลยในย่อหน้าต่อไป
เลยคิดว่า แป้ง 3500 กรัม หรือ น้ำหนักโด 6000-7000 กรัม จะเหมาะสมกว่า

พอทดลองรอบนี้สำเร็จ หลินเพิ่งได้รายละเอียดเครื่องนวดว่าใช้แป้งได้ 800-3500 กรัม ปริมาณโดต่ำสุด 2000 กรัม สูงสุด 7000 กรัม
และที่น่าสนใจคือ สามารถถอดแขนนวด และ ยกโถออกได้ด้วย
วิธีถอดแขน แค่หมุนน๊อตออกตามทิศทางที่บอกให้ open หรือ close
ส่วนโถ หมุนไปทางซ้ายนิดหน่อย จะเจอจังหวะที่ปลดล็อคจากฐาน ก็ยกออกมาได้ไม่ยากเลย


ที่ว่าตอนนวดจนกลูเตนแข็งแรง จังหวะที่แขนยกโด โถเลยถูกดึงให้ลอยตามขึ้นมา
ก็เพราะว่าถอดโดได้นี่เอง *ตรงนี้เลยกลายเป็นทั้ง ข้อดี และ ข้อเสีย ในตัวมันเอง
ข้อดี คือ เวลานวดเสร็จ เราถอดแขนนวดและยกโดออกมา เทโดได้สะดวก ทำความสะอาดง่าย
ข้อเสีย คือ โถลอยขึ้นบางจังหวะในตอนที่เรากำลังนวด แต่หลินทดลองจนเริ่มชิน เวลาเจอเคสแบบนี้แค่เอามือช่วยจับโถไว้เบา ๆ และก็ไม่ได้เจอเคสแบบนี้ทุกสูตร ที่เจอคือเพราะโดมีจำนวนมากและเหนียวมากจนดึงโถลอยได้
ยังมีคลิปนวด ciabatta ด้วย และ รูป ciabatta จากการทดลองรอบนี้ด้วย
ยังไม่ชินกับเครื่องนวดเท่าไหร่ และ ยังทดลองแป้งตัวใหม่ด้วย แต่ได้ขนมปังออกมา อร่อยถูกใจ



ภารกิจสุดท้าย ที่ต้องทดลอง คือ การทำ Panettone และ Pandoro
เพราะในต่างประเทศ ใช้แต่ twin arm mixer เพื่อทำผลิตภัณฑ์นี้
แต่เพราะต้องใช้เวลาพรูฟ Panettone และ Pandoro นาน เลยทำ country bread กับ ciabatta อีกรอบด้วย เหตุว่ารอบก่อนความรู้สึกโดแปลก ๆ โดพองลมเยอะ แต่หนักและรู้สึกโดหย่อนด้วย
หลังจากนวดเสร็จ เลยทดลอง coil fold จาก 3 เป็น 4 รอบ และตั้งใจหมักให้เบาขึ้น
พอนำมาตัดแบ่ง ขึ้นรูป หลินค่อยได้โดที่ความรู้สึกแบบเดิม
คือ มีลมและเบา
คลิปนี้ ตอนนวด ciabatta นวดชำนาญขึ้น รู้จังหวะเครื่องนวดมากขึ้น เวลาเติมวัตถุดิบระหว่างทาง หลินจะลดความเร็วลงเพื่อไม่ให้กระเด็นเลอะเทอะ (เหมือนคลิปนวด ciabatta ด้านบน) แต่ไม่ได้ถ่ายรูปเนื้อขนมปังไว้เลย มีแต่รูปโด


ส่วน sourdough country bread มี 1 รูปถ้วน ตอนชิม

กลับมาเรื่อง การวางแผนทดลองทำ Panettone / Pandoro
พอรู้ว่าเครื่องนวดนี้ รับแป้งได้น้อยสุดและมากสุดเท่าไหร่
เราก็ควรใช้แป้งอย่างน้อย เท่ากับ minimum flour ไม่งั้นจะนวดยากมาก ๆ
(เพิ่งมีนักเรียนคนนึง นวดโด pandoro พังไปสองรอบ ในครั้งแรกหลินยังไม่รู้สาเหตุ แต่รอบที่สองน้องส่งคลิปตอนนวดมาให้ดู รู้เลยว่าที่นวดยากเพราะขนาดโดที่นวดเล็กเกินไป ทำให้โดติดอยู่ที่ก้นโถและตะขอเกี่ยวไม่ได้ จึงมีปัญหาในการนวดมาก ๆ ทั้งที่น้องก็นวดปาเนตโตเนได้สำเร็จ ซึ่งทำจำนวนเยอะกว่า)
โด pandoro ต้องใช้เทคนิคเยอะกว่า ส่วนตัวหลินรู้สึกนวดยากกว่า เลยทำให้เต็มโถ น้ำหนัก 7000 กรัม
ส่วน panettone จะทำตาม minimum flour ที่ต้องใช้แป้ง 800 กรัม แต่เพียงแค่ต้องใช้แป้งเท่านี้ น้ำหนักโดที่ปลายทาง คือ โด 2 เลยขยายไปเป็น 5000 กรัม เลย เพราะมีผลไม้ นู่นนี่หลายอย่าง
ที่ว่าเคยนวดโดขนมปังปรกติ ใช้ liquid levain พอมาทดลองนวดของ panettone และ pandoro ก็รู้สึกว่ายากเหมือนกัน
หลินเจอปัญหาระหว่างทางด้วย แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ กับทั้งสองสูตร
– Pandoro โด 1 ในตอนเริ่มนวดหลินใจร้อนเกินไป ละลาย pasta madre ไม่ค่อยดี เนื่องจาก pasta madre แน่น กับ โดนี้มีน้ำเปล่าช่วยละลายน้อย จะต้องใช้ของเหลวอื่น คือจากไข่ ไข่แดงและน้ำตาล แต่จังหวะที่ใส่ไข่แดง+น้ำตาล หลินเทล้นเกินไป ทำให้โดเหลวไปหน่อย เลยเสียดสีให้ pasta madre ละลายยากขึ้น พอนวดจนทุกอย่างหมด ได้โดที่แข็งแรงดี แต่มีเศษเล็ก ๆ ของ pasta madre ที่ยังละลายไม่หมดอยู่
โชคดีที่หมักโด 1 นานทำให้เศษพวกนี้นุ่มขึ้น พอเริ่มต้นนวดโด 2 ที่ผสมโด 1 กับแป้ง โดจึงแน่นขึ้น เลยตั้งใจนวดให้ปราณีตขึ้นเพื่อช่วยขัดให้เศษละลายหายไป ซึ่งก็ได้ผลดี
– Panettone โด 1 ไม่มีปัญหา เพราะนวดหลัง pandoro จบ หลินเลยทำงานให้ละเอียดกว่าเดิม เช็คให้แน่ใจว่า pasta madre รวมกับวัตถุดิบดีแล้ว
แต่เกือบพังตอนโด 2 ที่ในตอนแรกนวดโด 1 กับแป้ง โดแข็งแรงดีมาก เลยใส่น้ำตาลและต่อด้วย aroma ต่าง ๆ ซึ่งสองแขนช่วยตักวัตถุดิบเข้าไปในโดได้เร็วดี พอถึงตอนใส่ไข่แดงเลยใส่ได้จำนวนมากกว่าเครื่องนวดแบบอื่น แต่หลินเว้นช่วงเวลาในการเทไข่สั้นไปและเทจำนวนเยอะเกิน โดจากที่แข็งแรงอยู่ กลายเป็นเหมือนจะพัง จับโดสะบัด ๆ แล้วเปื่อยไปเลย เช็คอุณหภูมิยังปลอดภัย
หลินเลยต้องหยุดใส่ไข่แดงที่เหลือ และนวด นวด นวดอยู่พักใหญ่ จนกู้กลูเตนที่ดีคืนกลับมาได้ *จังหวะนั้นคิดเลยว่า ถ้าชะล่าใจ ไม่หยุดจับโด ใส่ไข่แดงเข้าไปเพิ่มอีก โด 2 พังแน่นอน
มีอีกสาเหตุหนึ่งตอนใส่ไข่แดงผิดจังหวะด้วย หลินนึกออกว่าตอนที่เติมวัตถุดิบเข้าไป บางจังหวะวัตถุดิบจะหล่นลงไปกองอยู่ที่ก้นโดตรงกลาง ที่เรามองไม่เห็นว่าวัตถุดิบยังไม่ได้เข้าไปในโด โดจึงดูแข็งแรงดีเพราะวัตถุดิบยังไม่เข้าไปรบกวน เราเลยถูกหลอกคิดว่าวัตถุดิบซึมเข้าไปแล้ว จึงเติมรอบถัดไป พอทั้งสองรอบมารวมกันวัตถุดิบจึงล้นโด จากกลูเตนที่แข็งแรง เลยถดถอยทำให้หลินเจอปัญหาแบบที่ว่ามา
จากในการนวดครั้งนี้ เลยคิดว่า
นักอบที่จะนวดโด panettone, pandoro กับเครื่องสองแขนได้นี้
ต้องมีประสบการณ์พอสมควร ต้องไปตามโดเป็น รู้จักว่าโดที่แข็งแรงควรรู้สึกอย่างไร
หากยังมือใหม่ ที่ใช้วิธีการท่องลำดับการนวด และใส่วัตถุดิบไปเรื่อย ๆ ไม่ได้สังเกตโดใกล้ชิด อาจจะนวดไม่สำเร็จ



รูปภาพข้างล่างนี้ ตอน pre-shape pandoro โชคดีที่กู้สถานการณ์เรื่องเศษ pasta madre ได้

ตอนที่เห็น โด 1 Pandoro มีเศษ pasta madre เต็มไปหมด กังวลว่าการหมักต้องช้าแน่เลยเพราะหัวเชื้อละลายไม่หมด แต่ pasta madre คราวนี้ แข็งแรงสุด ๆ การหมักเลยปรกติ




เห็นขึ้นในเตาอบแบบนี้ ต้องอบให้สุกทั่วถึงจริง ๆ ไม่งั้น พอจับตีลังกา อาจร่วงลงมาได้



รอบนี้หลินอบ pandoro สั้นลงนิดหน่อย (2-3 นาที) เคาะออกมายังนุ่มพอสมควร
แต่เวลาสอนจะอบให้นานกว่านี้ สีจะเข้มและเปลือกหนา โครงสร้างแข็งแรงขึ้น เพราะไม่อยากให้เค้าทรุดลง
แอบคิดว่าเวลาผ่ากลาง น่าจะเห็นร่องรอยของการทรุดลงเล็กน้อยที่ฐานตรงกลาง ทำให้เนื้อขนมปังส่วนนั้นแน่นขึ้น


เสร็จสิ้นภารกิจทดลองเครื่องนวดสองแขน

ได้รูปภาพเนื้อปันโดโรมาจากน้องแวนดา เนื้อดูนุ่มชุ่มชื้นดีมาก

จะเห็นว่า รูปด้านขวาจากในหนังสือ เปลือกจะหนากว่าพอสมควร โครงสร้างจึงแข็งแรงพอที่จะพยุงเนื้อขนมปังที่แสนนุ่มได้ ซึ่งรูปซ้ายมือเปลือกบางกว่า เนื้อจึงทรุดลง แต่ก็ได้ pandoro ที่นุ่มชุ่มชื้นกว่ามาก


เช้าวันถัดไป ค่อยนำ panettone มาวางตั้งขึ้น

จริง ๆ ควรบ่มอีก 1-2 วัน ค่อยหั่นชิม แต่อดใจรอไม่ไหว เนื้อขนมปังแข็งแรง ได้ใยที่บางมาก



เท่าที่เห็นความแตกต่างการนวดด้วยเครื่องสองแขน
จากการเสียดสีโดที่น้อยลง ทำให้รักษารสชาติได้ดี และเนื้อปาเนตโตเนนุ่มชุ่มชื้นมากขึ้น (คล้ายกับ กรณี sourdough country bread) เยื่อใยของกลูเตนที่นวดได้กระชับขึ้นส่งต่อไปที่เนื้อปาเนตโตเนให้แข็งแรงดีมาก
ความแตกต่างตอนนวดโด 2 เสร็จ ในเครื่อง spiral โดจะยืดและรู้สึกเหลวกว่านี้
จริง ๆ หลินไม่ค่อยรู้สึกแตกต่างเรื่องโพรงที่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่
แต่ที่เด่นกว่าคือ เนื้อขนมปังชุ่มชื้นขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้สำคัญกว่าโพรง
โพรงที่มากเกินไป อาจส่งผลเสียให้เนื้อขนมปังแห้งเร็ว และการพยุงตัวของปาเนตโตเนก็ยากขึ้นด้วย ทำให้เราต้องอบให้นานขึ้น เพื่อป้องกันขนมปังร่วงหล่น คุณภาพในการเก็บรักษาความชุ่มชื้นจึงสั้นลง
อา … หลินเริ่มติดนิสัยครู จะสอนเรื่องปาเนตโตเนแล้ว …
กลับมาสรุปเรื่องเครื่องนวดสองแขน สำหรับท่านที่สนใจดีกว่า
เครื่องสองแขนรุ่นนี้ ผลิตใน Malaysia
หลินทดลองตี แป้งได้ 800-3500 กรัม น้ำหนักโด ประมาณ 2000-7000 กรัม
ความเร็วในการนวด มี 5 ระดับ
ตั้งเวลาได้ มีปุ่มกดให้แขนเครื่องไหวแบบ manual และ automatic
น่าจะเหมาะกับท่านที่ ทำขนมปัง รอบละ 4-16 ก้อน *แล้วแต่น้ำหนักโด
สำหรับสายขนมปังเปลือกแข็ง ใช้แรก ๆ อาจต้องจูนกับการนวดและการจัดการโดอีกนิดหน่อย แต่การนวดที่เสียดสีน้อย ช่วยรักษารสชาติวัตถุดิบให้ขนมปังนุ่มอร่อยขึ้น ไม่แห้งเร็ว
เหตุเพราะสูตร lean dough นั้นวัตถุดิบที่ใช้น้อยมากอยู่แล้ว เพียง แป้ง น้ำ เกลือ ยีสต์(ใดๆก็ตาม) เราจึงอยากให้ได้รสชาติของวัตถุดิบออกมาที่ขนมปังให้มากที่สุด
สำหรับการทำ panettone / pandoro ก็เหมาะสมมากจากผลงานที่หลินได้พบเอง แต่ก็ยอมรับว่านวดยากกว่า spiral * จะมองว่ายังไม่ชินกับเครื่องนวดก็ได้ ทำบ่อย ๆ ก็จะเข้ามือเอง แต่หลินไม่พบปัญหานวดยากกับขนมปังปรกติ *


ตอนแรกที่เริ่มเขียน คิดว่าเขียนรีวิว
แต่สุดท้ายต้องขอเรียกเป็น เรื่องสั้น เป็นเรื่องเล่าที่หลินได้ทดลองใช้เครื่องนวดนี้
ส่วนตัวที่ได้ลองอะไรใหม่ก็สนุกทุกครั้ง และยังได้ความรู้จากประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วย
หากใครไม่ได้สนใจเรื่องเครื่องนวดสองแขน ก็น่าจะได้ความรู้ในแง่มุมอื่น ๆ จากเรื่องสั้นนี้ด้วย